วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิเคราะห์ราคาทองคำ โดย วายแอลจีฯ YLG : (21-11-14 | 09:35)

 วิเคราะห์ราคาทองคำ โดย วายแอลจีฯ YLG : (21-11-14 | 09:35)




คำแนะนำ
เสี่ยงเปิดสถานะซื้อระยะสั้นเมื่อราคาลงมายังโซน $1,180-$1,173(ตัดขาดทุนหากหลุด $1,160) และจำเป็นต้องพิจารณาค่าเงินบาทประกอบการลงทุน

ปัจจัยพื้นฐาน
ราคาทองคำในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 1,175-1,205 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่วานนี้ราคาปรับตัวขึ้น 10.61 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งแม้จะทรงตัวในเดือน ต.ค. แต่หากเทียบจาก ต.ค. ปีที่แล้ว ได้ปรับตัวขึ้นถึง 1.7% อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นย่อมอาจกลายมาเป็นแรงกดดันในอนาคตเนื่องจากอาจมีการคาดหมายถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วขึ้น ซึ่งตลาดทองคำอ่อนไหวต่อประเด็นดังกล่าวค่อนข้างมาก นอกจากนี้เงินสกุลดอลลาร์ซึ่งใช้ดัชนีดอลลาร์(dollar index) เป็นตัวแทน ยังคงชะลอการปรับตัวขึ้นช่วยผลักดันราคาทองคำได้อีกทาง

ปัจจัยทางเทคนิค
ราคาทองคำยังคงพยายามยืนเหนือระดับ 1,170 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้กรอบการเคลื่อนไหวจะอยู่ในช่วง 1,170-1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนกว่าจะเกิดการทะลุของราคา(break out) เพื่อเกิดแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง

กลยุทธ์การลงทุน
ยังคงเน้นการเปิดสถานะซื้อเก็งกำไรในกรอบ 1,175-1,205 ดอลลาร์ต่อออนซ์และไม่ถือสถานะไว้นานเนื่องจากโซนระดับ 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ขึ้นไปมีแนวต้านสำคัญอยู่หลายจุด

ข่าวสารประกอบการลงทุน
(+)ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนพ.ย.ของสหรัฐร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน มาร์กิตเปิดเผยผลสำรวจที่ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนพ.ย.ของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน จากเดือนต.ค.ที่ระดับ 55.9 ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่รายงานของมาร์กิตยังระบุด้วยว่า ดัชนียอดสั่งซื้อล็อตใหม่ในภาคการผลิตปรับตัวลดลงในเดือนพ.ย. ขณะที่ดัชนียอดส่งออกในภาคการผลิตร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2556 อย่างไรก็ตาม ดัชนีการจ้างงานในภาคการผลิตดีดตัวขึ้น ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐชะลอตัวลงเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ รวมถึงจีนและกลุ่มประเทศยูโรโซน โดยดัชนี PMI เบื้องต้นเดือนพ.ย.ของยูโรโซนร่วงลงแตะระดับ 51.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับเดือนต.ค.ที่ 52.1 และดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนพ.ย.ลดลงแตะ 50.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จาก 50.4 ในเดือนต.ค.
(-)สหรัฐเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสัปดาห์ที่แล้วลดลง 2,000 ราย กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 15 พ.ย. ปรับตัวลง 2,000 ราย สู่ระดับ 291,000 ราย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวลดลงไม่มากเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 285,000 ราย ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ซึ่งสามารถวัดแนวโน้มตลาดแรงงานได้ดีกว่าเพราะมีความผันผวนน้อยกว่าตัวเลขรายสัปดาห์นั้น ปรับตัวขึ้น 1,750 ราย แตะที่ 287,500 ราย ทั้งนี้ นับเป็นสัปดาห์ที่ 10 ติดต่อกันแล้วที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์อยู่ต่ำกว่าระดับ 300,000 ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การเลิกจ้างลดลง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 214,000 ราย ส่วนอัตราว่างงานในเดือนต.ค.ลดลงแตะระดับ 5.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี
(-)สหรัฐเผยยอดขายบ้านมือสองเดือนต.ค.พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองเดือนต.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% แตะที่ 5.26 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว และตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.16 ล้านยูนิต ลอว์เรนซ์ ยูน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ NAR เปิดเผยว่า นับเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ที่ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดขายบ้านมือสองฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก ทางการสหรัฐจะเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่ประจำเดือนต.ค.ในวันพุธที่ 26 พ.ย.นี้ หลังจากที่ยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% แตะที่ 467,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2551
(+/-)สหรัฐเผยดัชนี CPI เดือนต.ค.ทรงตัว ขณะดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทรงตัวในเดือนต.ค. ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.1% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.ย. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนต.ค. รายงานของกระทรวงระบุว่า ในช่วงเวลา 12 เดือนจนถึงเดือนต.ค.ปีนี้ ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 1.7% ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานในช่วงเวลาดังกล่าวปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 1.8% ปัจจัยที่ทำให้ดัชนี CPI เคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระดับ 2% นั้น มาจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจทั่วโลกและสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า นับเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนี CPI ของสหรัฐชะลอตัวลงด้วย ทั้งนี้ ราคาพลังงานปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยราคาน้ำมันเบนซินลดลง 3% ขณะที่ราคาอาหารขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนต.ค.