วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

ราคาทอง Update วันที่ 20 เม.ย. 56 เวลา 08:59:00 น

ราคาทอง Update วันที่ 20 เม.ย. 56 เวลา 08:59:00 น
Gold Price by GTA / ราคาทองตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ
96.5% รับซื้อ (บาท) ขายออก (บาท)
ทองคำแท่ง 19,000.00 19,100.00
ทองรูปพรรณ 18,722.60 19,500.00

หลากปัจจัยทุบราคาทอง ร่วงต่ำสุดรอบ2ปี


บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า ตลาดทองคำโลกเผชิญภาวะ Bear Market ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยราคาดิ่งลงอย่างรวดเร็ว แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ 1,321.35 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงต่อมาตามแรงซื้อคืนจากนักลงทุน

ในอดีต ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ฯ มีอิทธิพลไม่น้อยต่อความเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยการอ่อนค่าของดัชนีเงินดอลลาร์ฯ มักจะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักต่างๆ ในปัจจุบัน (อาทิ เงินเยน และเงินยูโร) ที่ต่างก็มีความเฉพาะตัวมากขึ้น ก็ส่งผลทำให้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำมีความผันผวนมากขึ้น

ช่วงหลังจากนี้ นอกจากจะต้องจับตาทิศทางการซื้อ-ขายในระยะสั้นแล้ว การประเมินสถานการณ์ตลาดทองคำยังอาจต้องจับสัญญาณปัจจัยพื้นฐาน อาทิ สถานการณ์วิกฤตหนี้ยูโรโซน ความเสี่ยงเงินเฟ้อ และผลตอบแทนของสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ โดยเปรียบเทียบกับทองคำ

"แม้ราคาทองคำที่ร่วงลงอย่างมากจนทำสถิติต่ำสุดในรอบ 2 ปีในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ อาจจูงใจให้มีแรงซื้อคืนทองคำจากนักลงทุนทั่วไป/กลุ่มกองทุน/ธนาคารกลาง ขณะที่ ปัจจัยทางเทคนิค และตัวแปรเฉพาะของตลาดทองคำ (อาทิ การฉลองเทศกาล Akshaya Tritiya ในเดือนพ.ค. ซึ่งจะทำให้มีความต้องการทองคำเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ฤดูกาลแต่งงานในอินเดีย ซึ่งเป็นผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ที่สุดในโลก จะดำเนินต่อไปจนถึงต้นเดือนมิ.ย.) อาจทำให้ทิศทางราคาฟื้นตัวขึ้นในระยะใกล้ๆ นี้"

อย่างไรก็ดี หากต่อภาพพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดทองคำยังคงต้องเตรียมรับมือกับภาวะผันผวนในระยะข้างหน้า เนื่องจากตัวแปร/เงื่อนไขที่จะเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดทองคำอาจจะไม่เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่สอดคล้องกัน โดยอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและวิกฤตหนี้ยูโรโซน

ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศที่เป็นแกนนำของโลก ซึ่ง ณ ขณะนี้ ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น แม้ตลาดน่าจะรับรู้ตัวแปรจากมาตรการ QE ของเฟดไปแล้วในระดับหนึ่ง แต่คงต้องประเมินสัญญาณความต่อเนื่องของการใช้ QE จากเฟด รวมถึงทิศทางที่ชัดเจนขึ้นของการเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจ/เงินฝืดในญี่ปุ่น และปัญหาหนี้ในยูโรโซนประกอบด้วย เพราะคงต้องยอมรับว่า ปัจจัยเหล่านี้ ย่อมจะย้อนกลับมามีผลในการกำหนดทิศทางเงินดอลลาร์ฯ และราคาทองคำในช่วงนับจากนี้เช่นกัน

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ , bangkokbiznews